รู้จักเอกสาร มคอ.

♦ Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF : HEd

มคอ. ย่อมาจาก กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF : HEd เอกสาร มคอ. จึงเป็นแบบเอกสารจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และเป็นการประกันคุณภาพผู้เรียน ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศใช้เอกสาร มคอ. ที่มีหมายเลขกำกับตั้งแต่ มคอ.1 - มคอ. 7 ดังนี้

 

 มคอ.1 มาตราฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชา

มาตราฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชา หมายถึง กรอบที่กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ของบัณฑิตในแต่ละระดับการศึกษาสาขา/สาขาวิชาหนึ่งซึ่งจะกำหนดคุณลักษะของบัณฑิตในสาขา/สาขาวิชา ปริญญา และองค์ความรู้ที่เป็นเนื้อหา เท่าที่จำเป็นจะต้องมีในหลักสูตรสาขา/สาขาวิชาและระดับคุณวุฒินั้นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในสาขา/สาขาวิชาและระดับคุณวุฒิเดียวกันจะมีผลการเรียนรู้ไม่น้อยกว่าที่กำหนด ในขณะเดียวกันมาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาวิชาจะเปิดกว้างและส่งเสริมให้สถาบันต่างๆ มีโอกาสบรรจุเนื้อหาวิชาในส่วนที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้อย่างอิสระ เหมาะสม และตรงกับความต้องการหรือเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งจะทำให้สถาบันต่างๆ สามารถพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย แต่มีมาตรฐานผลการเรียนรู้ของหลักสูตรในสาขา/สาขาวิชา และระดับคุณวุฒิเดียวกันที่เทียบเคียงกันได้ นอกจากนี้ มาตราฐานคุณวุฒิของสาขา/สาขาวิชายังได้กำหนดเงื่อนไข ข้อแนะนำในการบริหารจัดการการเรียนการสอนที่สถาบันอุดมศึกษาต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้หลักประกันว่าหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนสามารถบรรลุมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง มคอ.1 เป็นแบบที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดให้คณะผู้เชี่ยวชาญใช้ในการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชาต่างๆ ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ

มคอ.2 รายละเอียดของหลักสูตร  (Programme Specification)

คำอธิบายภาพรวมของการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้บัณฑิตบรรลุผลการเรียนรู้ของหลักสูตรนั้นๆ โดยจะถ่ายทอดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของบัณฑิตที่กำหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชาไปสู่การปฏิบัติในหลักสูตร ซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษาสามารถบรรจุเนื้อหาวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้อย่างอิสระ เหมาะสมตรงกับความต้องการหรือเอกลักษณ์ของสถาบันฯ โดยคณาจารย์ผู้สอนจะต้องร่วมมือกันวางแผนและจัดทำรายละเอียดของหลักสูตร

รายละเอียดของหลักสูตรจะช่วยอธิบายให้นักศึกษาทราบว่าตนต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง เข้าใจถึงวิธีการสอน วิธีการเรียนรู้ ตลอดจนวิธีการวัดและประเมินผลที่จะทำให้มั่นใจว่าเมื่อเรียนสำเร็จแล้วจะบรรลุมาตรฐานผลการเรียรรู้ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ทั้งยังแสดงความสัมพันธ์ของหลักสูตรกับองค์ประกอบในการเรียนเพื่อนำไปสู่คุณวุฒิตามที่กำหนดในมาตรฐานคุณวุฒิ รายละเอียดของหลักสูตร จะช่วยให้นักศึกษาเลือกเรียนในหลักสูตรที่เหมาะกับรูปแบบการเรียนรู้และความต้องการของตนเองได้ รวมทั้งผู้ใช้บัณฑิตสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารับบัณฑิตเข้าทำงานทุกหลักสูตรมีรายละเอียดประกอบด้วย 8 หมวด คือ

(1) ข้อมูลทั่วไป
(2) ข้อมูลเฉพาะของหลักสูตร
(3) ระบบการจัดการศึกษา การดำเนินการ และโครงสร้างของหลักสูตร
(4) ผลการเรียนรู้ กลยุทธ์การสอนและการประเมินผล
(5) หลักเกณฑ์ในการประเมินผลนักศึกษา
(6) การพัฒนาคณาจารย์
(7) การประกันคุณภาพหลักสูตร และ
(8)การประเมินและปรับปรุงการดำเนินการของหลักสูตร

มคอ.3 รายละเอียดของรายวิชา (Course Specification)

ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการของแต่ละรายวิชา เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องและเป็นไปตามที่วางแผนไว้ในรายละเอียดของหลักสูตร ซึ่งแต่ละรายวิชาจะกำหนดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และรายละเอียดของเนื้อหาความรู้ในรายวิชา แนวทางการปลูกฝังทักษะต่างๆ ตลอดจนคุณลักษณะอื่นๆ ที่นักศึกษาจะได้รับการพัฒนาให้ประสบความสำเร็จตามจุดหมายของรายวิชา มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่ใช้ในการเรียน วิธีการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลในรายวิชา ตลอดจนหนังสือหรือสื่อทางวิชาการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังกำหนดยุทธศาสตร์ในการประเมินรายวิชาและกระบวนการปรับปรุง ทุกรายวิชามีรายละเอียดประกอบด้วย 7 หมวด คือ

(1) ข้อมูลทั่วไป
(2) จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์
(3) ลักษณะและการดำเนินการ
(4) การพัฒนาผลการเรียนรู้ของนักศึกษา
(5) แผนการสอนและการประเมินผล
(6) ทรัพยากรประกอบการเรียนการสอน และ
(7) การประเมินและปรับปรุงการดำเนินการของรายวิชา

 

มคอ.4 รายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม (Field Experience Specification)

ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการในรายวิชาหรือกิจกรรมที่นักศึกษาจะต้องออกฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือสหกิจศึกษา ซึ่งจะต้องวางแผนให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรายอะเอียดของหลักสูตร โดยจะกำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการดำเนินการของกิจกรรมนั้นๆ ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจที่นักศึกษาจะได้รับจากการออกฝึก มีการกำหนดกระบวนการหรือวิธีการในการปลูกฝังทักษะต่างๆ ตลอดจนคุณลักษณะอื่นๆที่นักศึกษาจะได้รับการพัฒนาให้ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายรวมทั้งเกณฑ์การวัดและประเมินผลนักศึกษา และการประเมินการดำเนินการตามรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม ข้อมูลใน มคอ.4 ประกอบด้วย 7 หมวด คือ

(1) ข้อมูลทั่วไป
(2) จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์
(3) การพัฒนาผลการเรียนรู้
(4) ลักษณะและการดำเนินการ
(5) การวางแผนและการเตรียมการ
(6) การประเมินนักศึกษา และ
(7) การประเมินและปรับปรุงการดำเนินการของการฝึกประสบการณ์ภาคสนาม

 

มคอ.5 รายงานผลการดำเนินการของรายวิชา (Course Report)

รายงานผลการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชาเมื่อสิ้นภาคเรียน เกี่ยวกับภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนในวิชานั้นๆว่า ได้ดำเนินการสอนอย่างครอบคลุมและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ในรายละเอียดของรายวิชาหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ต้องให้เหตุผลและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาดังกล่าวในครั้งต่อไป รายงานนี้จะครอบคลุมถึงผลการเรียนของนักศึกษา จำนวนนักศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนจนสิ้นสุด ปัญหาในด้านการบริหารจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวก การวิเคราะห์ผลการประเมินรายวิชาของนักศึกษา/หัวหน้าภาค/หรือผู้ประเมินภายนอก รวมทั้งการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บัณฑิต การวางแผนและให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ประสานงานหลักสูตรเพื่อปรับปรุ่งและพัฒนารายวิชา ข้อมูลประกอบด้วย 6 หมวด คือ

(1) ข้อมูลทั่วไป
(2) การจัดการเรียนการสอนเปรียบเทียบกับแผนการสอน
(3) สรุปผลการจัดการเรียนการสอนของรายวิชา
(4) ปัญหาและผลกระทบต่อการดำเนินการ
(5) การประเมินรายวิชา และ
(6)แผนการปรับปรุง

 

มคอ.6 รายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม (Field Experience Report)

รายงานผลการฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือ สหกิจศึกษา ว่าได้บรรลุผลการเรียนตามแผนที่วางไว้ในรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนามหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามแผน ต้องให้เหตุผลและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือ สหกิจศึกษาในครั้งต่อไป รายงานนี้จะครอบคลุมถึงการฝึกประสบการณ์ภาคสนามตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุด ปัญหาด้านการบริหารจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวก การวิเคราะห์ผลการประเมิน การฝึกของนักศึกษา/อาจารย์ผู้รับผิดชอบ/พนักงานพี่เลี้ยง ข้อมูลประกอบด้วย 6 หมวด คือ

(1) ข้อมูลทั่วไป
(2) การดำเนินการที่ต่างไปจากแผนการฝึกประสบการณ์ภาคสนาม
(3) ผลการดำเนินการ
(4) ปัญหาและผลกระทบด้านการบริหาร
(5) การประเมินการฝึกประสบการณ์ภาคสนาม และ
(6) แผนการปรับปรุง

 มคอ.7 รายงานผลการดำเนินการของหลักสูตร (Programme Report)

การรายงานผลประจำปีโดยผู้ประสานงานหลักสูตรหรือผู้รับผิดชอบหลักสูตรเกี่ยวกับผลการบริหารจัดการหลักสูตร เช่น ข้อมูลทางสถิติของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตร สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสถาบันที่มีผลกระทบต่อหลักสูตร สรุปภาพรวมของรายงานผลของรายวิชาในหลักสูตร ประสิทธิภาพของการสอนในมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละด้าน การเทียบเคียงผลการดำเนินการกับมาตรฐานอื่นๆที่มี สรุปผลการประเมินหลักสูตรจากความเห็นของผู้สำเร็จการศึกษา ผู้ใช้บัณฑิต ตลอดจนข้อเสนอในการวางแผนและการพัฒนา รวมทั้งแผนปฏิบัติการในการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การรายงานผลดังกล่าวจะส่งไปยังหัวหน้าภาควิชา/คณบดี และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาด้วยตนเองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเป็นระยะๆ และเป็นข้อมูลในการรับรองหลักสูตรจากผู้ประเมินภายนอกได้ด้วย รายงานประกอบด้วย 9 หมวด คือ

(1) ข้อมูลทั่วไป
(2) ข้อมูลเชิงสถิติ
(3) การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อหลักสูตร
(4) ข้อมูลสรุปรายวิชาของหลักสูตร
(5) การบริหารหลักสูตร
(6) สรุปการประเมินหลักสูตร
(7) คุณภาพของการสอน
(8) ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคุณภาพหลักสูตรจากผู้ประเมินอิสระ และ
(9) แผนการดำเนินการเพื่อพัฒนาหลักสูตร